ความหมายของประเพณี
พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่าประเพณีไว้ว่า ปร
ะเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเพณี
คำว่าประเพณี ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป
โดยสรุปแล้ว ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแปลกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ
กำเนิดประเพณีไทย
ประเพณีไทยไม่ได้มีอยู่โดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่คนหรือสังคมโดยส่วนรวมสร้างให้มีขึ้นแล้วถ่ายทอดให้แก่กัน พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงกำเนิดของประเพณีไทยว่า “เกิดจากความประพฤติหรือ การกระทำของใครคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งเป็นประโยชน์และความจำเป็นตามที่ต้องการจากการกระทำเช่นนั้น คนอื่นเห็นดีก็ทำตามเป็นแบบอย่างเดียวกัน และสืบต่อเป็นส่วนรวมมาช้านานจนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น”
ประเพณีไทยที่ปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติกันในสังคมนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
๑. จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม (Mores)
หมายถึงสิ่งที่สังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความถูก ผิด มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ใครฝ่าฝืนหรือเฉยเมยถือว่าเป็นการละเมิดกฎของสังคม ผิดประเพณีของสังคม จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรมของแต่ละสังคมย่อมไม่เหมือนกันสังคมไทยเห็นว่า การมีความสำพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นการผิดจารีตประเพณี แต่ชาวสวีเดนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจารีตประเพณีเป็นเรื่องของแต่ละสังคม จะใช้ค่านิยมของสังคมใดสังคมหนึ่งไปตัดสินสังคมอื่นไม่ได้
๒. ขนบธรรมเนียมหรือสถาบัน (Institution)
เป็นระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วปฏิบัติสืบมา คือรู้กันเองไม่ได้วางเป็น ระเบียบแบบแผนไว้ว่าควรปฏิบัติกันอย่างไร มักใช้คำว่าสถานแทนขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งคนในสังคมมีความพอใจ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา มีข้อกำหนดบังคับเอาไว้ เช่นสถาบันการศึกษา มีครู ผู้เรียน เจ้าหน้าที่ มีระเบียบการรับสมัครเข้าเรียน การสอบไล่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดการบวช การแต่งงาน การตาย มีกฎเกณฑ์ของประเพณีวางไว้ แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อจำเป็น
๓. ธรรมเนียมประเพณีหรือประเพณีนิยม (Convention)
เป็นแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชิน แต่ต้องไม่ ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำแม้มีผู้ฝ่าฝืนหรือทำผิดก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจถูกตำหนิไว้ว่าไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ เช่น การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การดื่มน้ำจากแก้ว